โครงการพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจพื้นที่ลุ่มน้ำปิง

หลักการและเหตุผล
          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงพื้นที่นั้น ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS: Geographic Information System) ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก ที่สามารถสืบค้น แสดงผล และวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างชั้นข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดชั้นข้อมูลใหม่ที่มีคุณลักษณะเชิงพื้นที่ตามผลการวิเคราะห์ ที่สามารถนำไปติดตาม และประเมินผลการผลิตทางเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          จากข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนามาแล้วจากโครงการอื่นๆ ซึ่งผ่านขบวนการจำแนกเชิงพื้นที่ด้วยเทคนิคของงานทางด้านรีโมทเซนซิง เช่น โครงการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาพื้นที่ศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทต่างๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ได้
          ดังเหตุผลที่ได้กล่าวข้างต้น ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) ในฐานะหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงสร้างภูมิสารสนเทศแห่งชาติเพื่อบริการสังคม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางการพัฒนาข้อมูลภูมิสารสนเทศของประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อทำการพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในการศึกษาได้เน้นในพืชเศรษฐกิจของยางพารา ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างชั้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ถูกต้องทันสมัย สามารถนำไปใช้ในการ วิเคราะห์วางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. ศึกษาและพัฒนาเทคนิควิธีการในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชั้นข้อมูล
  2. พัฒนาฐานข้อมูลการพื้นที่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ
พื้นที่ในการดำเนินการ
          ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 34,536.83 ตารางกิโลเมตร อยูในเขตพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์