โครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการรับรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การลดพื้นที่เผาไหม้ที่ต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปี 2562
- ผู้เขียน: administrator
- 2023-10-03 14:57:37
- 3406 เข้าชม
โครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการรับรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การลดพื้นที่เผาไหม้ที่ต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปี 2562 พื้นที่ดำเนินการ: ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอแม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก เเละมูลนิธิรักษ์ไทย
หลักการและเหตุผล
พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพื้นที่ที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีความลาดชันสูง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาช้านานของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ รวมไปถึงสถานการณ์การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ และปัญหาพื้นที่เผาไหม้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควันที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือในขณะนี้ ซึ่งมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้พื้นที่สูงเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและเป็นห่วงเป็นใยในสถานการณ์ดังกล่าว โดยปัญหาดังกล่าวมักมีรากเหง้าที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางด้านนโยบายของรัฐในการจัดการป่าไม้ที่ขาดความชัดเจนในอดีต ด้านจำนวนประชากรมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกจากพืชยังชีพในอดีตมาสู่พืชการค้าและมีการขยายพื้นที่เกษตรกรรมบนที่สูงเพื่อการเพาะปลูกพืชการค้าเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจากการสนับสนุนของกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ระบบนิเวศบนที่สูงได้ถูกทำลาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลเชื่อมโยงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างมากมาย อาทิ น้ำท่วมหลาก ดินถล่ม ไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภาคเหนือในขณะนี้ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ถูกผูกโยงกับวิธีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นบนที่สูงที่ยังไม่มีคุณภาพและยังไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมถูกสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อผู้อาศัยที่อยู่ปลายน้ำหรือชาวไทยพื้นราบที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยเช่นกัน
โครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการรู้รับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วยการดำเนินงานของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเป็นการร่วมดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการจัดการร่วม (Co-management) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วยองค์กรในหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรวิชาการ สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานภายนอกและชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงานในการเสริมสร้างศักยภาพ (Empowerment) ให้ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองและมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การจัดการปัญหาด้วยประเด็นเฉพาะของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
วัตถุประสงค์
1.2.1 มุ่งดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับชุมชนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนและนโยบายด้านการจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน
1.2.2 มุ่งให้ความรู้และการบริการวิชาการด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสู่การปฏิบัติงานอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่